วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รามเกียรติ์ ตอนที่ 6

รามเกียรติ์ฉบับย่อจังหวะนรก ตอนที่ 6 “สุครีพ พาลี พี่น้องสายเลือดศิลปิน”

ยังมีเมืองหนึ่ง ชื่อเมืองสาเกต อยู่ในเขตเดียวกับเมืองอโยธยา ท้าวโคดม ซึ่งเป็นกษัตริย์ครองเมืองสาเกตไม่มีโอรสธิดา เกิดเป็นโรคเบื่อความเจริญ จึงหนีตามกาลิเลโอไปบวชเป็นพระฤาษีโคดมอยู่ในป่า นานเสียจนหนวดเครายาวรุงรัง ยาวถึงขนาดที่ว่ามีนกกระจาบผัวเมีย มาทำรังออกไข่อยู่ในหนวดพระฤาษีโคดมได้



เย็นวันหนึ่ง นกกระจาบตัวผู้มัวแต่หาอาหารเพลินจนดอกบัวหุบกลีบ ก็เลยติดอยู่ในดอกบัว กลับมารังไม่ได้ตลอดคืน รุ่งเช้าแดดออก ดอกบัวบานจึงกลับมาได้ นางนกกระจาบไม่เชื่อว่าพ่อนกกระจาบจะไปติดอยู่ในดอกบัวทั้งคืน


"นี่เธอต้องไปเที่ยงค้างคืนที่อื่น และตัวก็หอมฟุ้งมาด้วย ฉันขอโกรธเธอร้อยปี อย่ามาดีร้อยชาติ"

นางนกกระจาบ ต่อว่าต่อขาน พ่อนกจึงบอกว่า 

"ถ้าฉันนอกใจเธอแล้ว ขอให้บาปของพระฤาษีโคดมจงเป็นของฉันแต่ผู้เดียวเถิด" 

พระฤาษีโคดมได้ยินดังนั้นก็สงสัยจึงพูดว่า
"มีถั่วมั๊ย” เอ๊ย!!! ไม่ใช่!!! พูดถามว่า “ทำไมจึงว่าฉันมีบาปจ๊ะ พ่อนก ในเมื่อฉันบำเพ็ญพรตลอดมา แถมยอมให้พวกเธอมาอาศัยอยู่ในรังหนวดของฉันฟรี ๆ เลย"

พ่อนกจึงตอบว่า "ท่านบาป เพราะท่านไม่สามารถมีโอรสธิดาสืบราชสมบัติ การมาบวชเป็นฤาษี เท่ากับทำให้ขาดวงศ์กษัตริย์ปกครองบ้านเมืองต่อไปนี่แหละบาปใหญ่เป็นบาปหนัก"

พระฤาษีคิดดูก็จริง จึงเบื่อเพศฤาษี (อีกแระ) และตั้งพิธีบริกรรมหน้ากองไฟ จนบังเกิดนางงามชื่อ นางกาลอัจนา พระโคดมจึงอยู่กินกับนางจนเกิดลูกสาวสวย ชื่อ นางสวาหะ


วันหนึ่งพระโคดมไปหาผลไม้ในป่า พระอินทร์ก็ทรงเสด็จมา Featuring กับนางกาลอัจนา วันนั้นเพื่อให้เกิดโอรสมีฤทธิ์ จะได้เป็นกำลังทหารเอกไว้รอท่า พระนารายณ์อวตาร ต่อมานางกาลอัจนาก็ตั้งครรภ์ และคลอดบุตร เป็นชายงามผิวสีเขียว ตั้งชื่อว่าพระยากากาศหรือพาลีแล้ววันหนึ่งพระโคดมก็ไปหาผลไม้ในป่าอีกแล้ว...


พระอาทิตย์เห็นเป็นโอกาสดี ก็เลยลงมา Featuring กับนางกาลอัจนาไปอีกหนึ่งผลงานเพลง ต่อมา นางกาลอัจนาก็ตั้งครรภ์ และคลอดบุตร เป็นชายงามผิวสีแดง ตั้งชื่อว่าสุครีพ


พระโคดมเลี้ยงดูลูกชายทั้งสองอย่างดี เพราะนึกว่าเป็นลูกของท่าน จนกระทั่ง วันหนึ่งพระโคดมไปชายน้ำ (สงสัยว่าหลังจากนั้นท่านฤาษีไม่เข้าป่าหาผลไม้อีกแล้วหรือไร) จึงพาลูก ๆ ไปด้วย โดยอุ้มลูกชายคนเล็ก ไว้ที่เอวข้างขวา ลูกชายคนกลางของท่าน ให้ขี่หลังท่าน ส่วนลูกสาวนั้น ท่านจูงด้วยมือซ้าย เพราะเห็นว่าโตแล้ว นางสวาหะรู้เรื่องที่แม่เป็นศิลปินรับเชิญมาก่อนก็อดน้อยใจมิได้ จึงบ่นว่า

...อนิจจาหลงรักลูกเขา ... ช่างเอาอุ้มชูแล้วให้ขี่
ลูกตนให้เดินปฐพี ... ไม่ปราณีบ้างเลยพระบิดา...

พระโคดมได้ยินก็สงสัย จึงซักถาม นางสวาหะก็เล่าเรื่องให้ฟัง พระโคดมจึงอธิษฐานว่า "เราจะจับลูกทั้งสามโยนลงน้ำ ถ้าใครเป็นลูกเรา ก็ให้ว่ายน้ำมาหาเรา ถ้าใครไม่ใช่ลูกเรา ก็จงกลายเป็นลิงขึ้นฝั่งเข้าป่าไป" ดังนั้นเมื่อพระโคดมโยนลูกทั้งสามลงน้ำ นางสวาหะจึงว่ายน้ำกลับมาหาพ่อได้คนเดียว ส่วนลูกชายทั้งสอง กลายเป็นลิงสีเขียว กับลิงสีแดง ขึ้งฝั่งเข้าป่าไป ตามคำอธิษฐานของท่าน พระโคดมโกรธนางกาลอัจนามาก ก็สาปให้กลายเป็นศิลา รอท่านพระนารายณ์อวตารมาขนไปทิ้งทะเล ทำถนนข้ามไปเมืองลงกา



พระฤาษีมีที่ลงแล้ว แต่นางกาลอัจนายังไม่มี ด้วยความโกรธนางสวาหะที่เปิดเผยว่าตนเคยเป็นศิลปิน จึงสาปให้ไปยืนตีนเดียวมือเหนี่ยวต้นไม้ และอ้าปากกินลมอยู่ในป่า จนกว่าเมื่อไรออกลูกเป็นลิงจึงจะพ้นคำสาป แล้วนางกาลอัจนาก็กลายเป็นศิลา ส่วนลูกสาวก็ไปยืนตีนเดียว อยู่ในป่าเชิงเขาจักรวาล อ้าปากกินลม และมือเหนี่ยวกิ่งไม้ไว้ จะพ้นคำสาปเมื่อมีลูกเป็นลิงมีฤทธิ์เลิศกว่าลิงอื่น ๆ



***หมายเหตุ : พาลีและสุครีพในบทบาทอื่น ๆ

  • เรือพาลีรั้งทวีป เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร เป็นหนึ่งในเรือพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราชลมารค จัดเป็นเรือกระบวนปิดทอง ไม่พบหลักฐานที่สร้าง โขนเรือเป็นรูปพาลีปิดทองประดับกระจกภายในสีแดง ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง เรือยาว 27.54 เมตร กว้าง 1.99 เมตร ลึก 0.59 เมตร กินน้ำลึก 0.31 เมตร หัวเรือกว้างมี รูกลมโผล่ทางหัวเรือสำหรับติดตั้งปืนใหญ่บรรจุทางปากกระบอกได้ 1 กระบอก ขนาดปากกระบอก 65 มม. เหนือช่องปืนแกะเป็นรูปขุนกระบี่สีเขียว มีฝีพาย 34 คน นายท้าย 2 คน นายลำแต่งตัวสวมมาลา สวมเสื้อตาดอย่างน้อยทนายหมอบหน้า สวมเสื้ออัตลัด โพกแพรสี ฝีพาย สวมกางเกงมัสรู่ ปัจจุบันเก็บรักษาที่โรงเรือท่าวาสุกรี



  • เรือสุครีพครองเมือง เป็นเรือรูปสัตว์ในประเภทเรือเหล่าแสนยากร เป็นหนึ่งในเรือพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราชลมารค โขนเรือเป็นรูปสุครีพปิดทองประดับกระจกภายในสีแดง ภายนอกทาสีดำ เขียนลวดลายดอกพุตตานสีทอง เรือยาว 27.45 เมตร กว้าง 1.39 เมตร ลึก 0.59 เมตร กินน้ำลึก 0.31 เมตร หัวเรือกว้างมี รูกลมโผล่ทางหัวเรือสำหรับติดตั้งปืนใหญ่บรรจุทางปากกระบอกได้ 1 กระบอก ขนาดปากกระบอก 65 มม. เหนือช่องปืนแกะเป็นรูปขุนกระบี่สีแดง นายลำ สวมมาลา เสื้อตาดอย่างน้อย ทนายหมอบหน้า สวมเสื้ออัตลัด โพกแพรสี ฝีพายสวมกางเกงมัสรู่ ปัจจุบันเก็บรักษาที่โรงเรือท่าวาสุกรี



  • “พาลีล้างกองกูณฑ์” เป็นชื่อปืนใหญ่ที่ขึ้นบัญชีไว้เมื่อปีจุลศักราชที่ 1187 (เทียบเป็นพุทธศักราชที่ 2368) ยาวห้าศอกคืบ กระสุนหกนิ้ว ดินหนัก 4 ชั่ง ข้อมูลบันทึกไว้ในจดหมายเหตุของรัชกาลที่ 3 เล่มที่ 1
  • ตราพาลีถือพระขรรค์และตราสุครีพ เป็นบัญชีโคมตราในพระราชพิธีวิสาขบูชา รัชกาลที่ 4 โดยตราพาลีถือพระขรรค์นั้นผู้ถือคือ พระพิชัยสงคราม เจ้ากรมอาสาซ้าย ส่วนตราสุครีพ ถือโดย พระยามหานุภาพ จางวางกรมพลพันขวา
  • อัตลัด (จากข้อ 1 และ 2) เว็บพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานให้ความหมาย "อัตลัด" ว่าเป็นผ้าเทศ หมายถึงว่าเป็นผ้าต่างประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงมาจากภาษาอาหรับ ว่า อัตลัส เรียกตามชนิดของผ้า เป็นผ้าทอด้วยไหมแกมเส้นทองและเงิน เป็นลายเป็นดอกต่างๆ ไทยเรานิยมมาตัดทำเสื้อ จึงเรียกเสื้ออัตลัด
  • มัสรู่ (จากข้อ 1 และ 2) มาจากกางเกงของแขกที่ขายมัสมั่น 555 ไม่ใช่ว้อย! ก็เหมือนกับอัตลัดน่ะแหละ มาจากแหล่งเดียวกัน ภาษาเปอร์เซียเรียกว่า มัซรู เป็นผ้าสองหน้า ด้านในเป็นด้าย ด้านนอกเป็นไหม เป็นผ้าริ้วลายเป็นทางๆ
ตอนแรกกะว่าจะซัดยาว ๆ มาตายตอนหาข้อมูลเพิ่มเนี่ยแหละ แถมตอนหน้าเป็นเรื่องหนุมาน ข้อมูลเกี่ยวข้องเยอะแยะไปหมด ทั้งเรือในพระราชพิธี ปืนใหญ่ ตราประทับ สัญลักษณ์ประจำจังหวัด ที่ท่องเที่ยว ขนาดร้านอาหารยังมีเลย ขอเวลาแยกข้อมูลก่อน เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น