วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รามเกียรติ์ ช่วงที่ 2 ตอนที่ 1

รามเกียรติ์ฉบับย่อจังหวะนรก ช่วงที่ 2 ตอนที่ 1 “รวมฮิตกำเนิดตัวละครหลัก”

มียักษ์ตนหนึ่งชื่อนนทกาลอสูร เป็นผู้เฝ้าประตูกำแพงชั้นในเขาไกรลาสของพระอิศวร ได้ล่วงเกินนางเทพอัปสรนามว่ามาลี มีหน้าที่เก็บดอกไม้ถวายพระอิศวร แต่นางไม่ชอบตอบจึงไปทูลฟ้องพระอิศวร พระอิศวรโกรธสาปให้นนทกาลไปเกิดเป็นควายป่าชื่อ ทรพา และเมื่อถูกฆ่าโดยลูกชายชื่อทรพี จึงจะพ้นคำสาป เมื่อทรพาเข้ามาอยู่ในป่าได้นางควาย (เอ่อ...ไม่ได้เหยียดเพศนะ เข้าใจกันใช่ปะ) เป็นเมียมากมาย แต่ตัวทรพาไม่ยอมให้นางควายตัวอื่น ๆ ได้เลี้ยงลูกตัวผู้เลยเพราะยังจำคำสาปแช่งของพระอิศวรได้ เมื่อนางควายตัวใดมีลูกตัวผู้ก็จะถูกฆ่าตายหมด มีนางควายตัวหนึ่งชื่อ นิลา ซึ่งทรพารักมาก และนางก็ฉลาดมากเช่นกัน พอครรภ์แก่นางก็หลบไปอยู่ในถ้ำสุรกานต์ เมื่อคลอดลูกปรากฏว่าเป็นตัวผู้ นางจึงฝากเทพยดาเลี้ยงไว้ในถ้ำ ท่านสงสารก็ช่วยดูแลและตั้งชื่อว่าทรพี แถมเหล่าเทพยดายังสถิตอยู่ในเขาทั้ง 2 ข้างและขาทั้ง 4 เพื่อปกป้องภยันตรายให้...


ฝ่ายท้าวศากยวงษาเจ้าเมืองบาดาลได้ตายลง (ต้องย้อนชิมิ...พ่อของทศกรรฐ์คือท้าวลัสเตียน ย้อนไปอีกก็เป็นรุ่นปู่คือท้าวจตุรพักตร์ ที่มีเพื่อนคือท้าวสหมลิวัน ลูกของท้าวสหมลิวันก็คือท้าวศากยวงษานี่แหละ มีอีกชื่อคือมหายมยักษ์) ไมยราพณ์ได้ขึ้นครองเมือง คิดถึงเรื่องที่บิดาสั่งไว้มิให้คบหากับทศกรรฐ์ แต่เนื่องด้วยทศกรรฐ์เป็นยักษ์พาล วันหน้าอาจรุกรานได้ จำเป็นต้องเรียนพระเวทให้มากขึ้น จึงขึ้นจากบาดาล มาศึกษาพระเวทผูกจิตสะกดทัพ, ล่องหนหายตัวและคาถาคงกระพันชาตรีกับพระสุเมธฤาษี ที่ป่าหิมพานต์ พระฤาษีสุเมธรักไมยราพณ์มากได้ทำพิธีถอดดวงใจให้ไมยราพณ์ ดวงใจนั้นก็ออกจากปากไมยราพณ์เป็นแมลงภู่บินวนทักษิณ 3 รอบ (ทักษิณซื้อรามเกียรติ์ไปแล้ว เลวมากฮะย์ย์ย์) และให้ไปเก็บไว้ที่เขาตรีกูฎ กำชับว่าอย่าให้ใครเด็ดขาด แล้วตัวไมยราพณ์ก็จะหนังเหนียว แม้ไฟกรดจากพระอินทร์ก็ทำลายชีวิตไม่ได้...





ทางเมืองมนุษย์ มีเมืองไกยเกษอยู่ใกล้เมืองอโยธยาท้าวไกยเกษเป็นเจ้าเมือง มีธิดาชื่อนาง ไกยเกษี เกิดจากมเหสีชื่อ ประไพวดีครั้นท้าวไกยเกษทราบว่า ท้าวอัชบาลเป็นเชื้อวงศ์ท้าวอโนมาต้น ซึ่งเป็นวงศ์พระนารายณ์ ลงมาจากสวรรค์มีพระขรรค์แก้วเป็นอาวุธสามารถเหาะขึ้นไปตัดเศียรอสุรพักตร์มาเสียบไว้เฝ้าอุทยานได้ ท้าวไกยเกษก็อ่อนน้อมให้ โดยถวายเครื่องราชบรรณาการทุกปี อีกทั้งท้าวอัชบาลทรงมีโอรสโสดชื่อท้าวทศรถ ดังนั้นท้าวไกยเกษจึงถวายนางไกยเกษีให้ท้าวทศรถ ท้าวอัชบาลจึงจัดพิธีอภิเษกให้และสละราชบัลลังก์ให้ท้าวทศรถขึ้นครอง ส่วนพระองค์เองก็เสด็จออกประพาสป่า และได้มาเห็นนายพรานป่ากำลังมัดเนื้อที่ตัดแร้วเพื่อเอาไปฆ่า ท่านท้าวเมตตาสงสาร จึงตรัสขอชีวิตเนื้อตัวนั้นโดยจะประทานเนื้อพระวรกายของท่าน ให้แทนครบตามน้ำหนัก ซึ่งนายพรานก็ยินยอม แต่เมื่อได้เชือดเนื้อไปครบถ้วนแล้วท้าวอัชบาลก็สวรรคต พระอิศวรได้เสด็จมาอุ้มท้าวอัชบาลขึ้นไปไว้ที่ภูเขาไกรลาศ เพราะเหตุว่าได้บำเพ็ญกุศลใหญ่หลวง ดังนั้นจึงได้เกิดใหม่บนสวรรค์...


ด้านท้าวทศรถกษัตริย์กรุงอยุธยา เมื่อขึ้นครองราชย์ก็มีมีพระมเหสี 3องค์คือ นางเกาสุริยา นางไกยเกษี และนางสมุทรเทวี วันหนึ่งท้าวทศรถยกทัพไปรบกับพญายักษ์ปทูตทันต์ เนื่องจากปทูตทันต์ซึ่งเดิมอยู่ในถ้ำแก้วที่ภูเขาสุรกานต์ในป่าหิมพานต์ กำเริบฤทธิ์เหาะขึ้นสวรรค์ เพื่อรุกรานเทวดา และอยากฆ่าพระอินทร์เสียด้วย ได้เข้าไปอาละวาดอยู่ในสวนลัดดาวัลย์บนสวรรค์ พระอินทร์จึงโปรดให้ท้าวทศรถมาปราบ...

ท้าวทศรถจึงเดินทางยกทัพขึ้นสวรรค์ โดยมีนางไกยเกษีได้ตามเสด็จมาด้วย ส่วนมเหสีอีกสององค์ คือนางเกาสุริยาและนางสมุทรชา รับหน้าที่ดูแลกิจการงานอยู่ในวัง โดยในระหว่างท้าวทศรถรบกับปทูตทันต์ เพลารถแก้วได้หักลง นางไกยเกษี ได้สอดแขนนางไว้ แทนเพลาจนท้าวทศรถฆ่ายักษ์ได้ ท้าวทศรถเห็นความจงรักภักดี จึงลั่นวาจาว่า ถ้านางต้องการอะไร พระองค์ก็จะให้ตามประสงค์...

กล่าวถึงเมืองโรมพัตต้น ท้าวโรมพัตต้นผู้ครองเมืองกลุ้มพระทัยอยู่นาน 3 ปีแล้ว เนื่องด้วยฝนแล้ง ทำให้ราษฎรอดอยากไปทั่ว แม้นบวงสรวงเทวดาก็ไม่ได้ผล แม้จนกระทั่ง ตั้งพิธีขอฝนนานถึงเจ็ดเดือนเจ็ดวัน ก็ไร้ผล วันหนึ่งมีนายพรานป่าผู้รู้สาเหตุนามว่าวันจรก ได้มาทูลว่า ที่เกิดฝนแล้งนาน 3 ปี ก็เพราะฤาษีกไลโกฎได้บำเพ็ญตบะแรงกล้าเป็นนิจ จึงบันดาลให้ดินฟ้าอากาศแห้งแล้งในเมืองนี้ ท้าวโรมพัตต้น จึงโปรดให้นางอรุณวดีราชธิดาโฉมงามออกไปที่ป่าหิมพานต์ ไปทำลายตบะพระฤาษีกไลโกฏิ...

พระฤาษีกไลโกฎหรือพระฤาษีหน้าเนื้อ ท่านมีหน้าเป็นเนื้อหรือกวาง เพราะว่ามีมารดาเป็นนางกวาง เมื่อนางอรุณวดีมาพบจึงมาทำลายพิธีด้วยการบีบนวดเคล้าคลึงเอาน้ำผึ้งไปทาริมฝีปาก เมื่อกระทำมากเข้าพระฤาษีกไลโกฎก็ออกจากฌานสมาบัติลืมตาดู เมื่อเห็นนางอรุณวดี และได้รับการนวดการสัมผัสบีบคลำ ตัณหาภายในใจก็ฟุ้งขึ้น ที่สุดตละที่บำเพ็ญไว้ก็เสื่อม ทำให้ฝนที่แล้งอยู่นานถึง 3 ปี ตกกระหน่ำลงมาบ้านเมืองก็สุขสบาย และนางก็ได้พาพระฤาษี เข้ามาอยู่ในเมืองด้วย แต่สุดท้ายพระฤาษีก็ล่วงรู้ความจริงอันโหดร้าย จึงกลับเข้าป่าไปบำเพ็ญตบะใหม่ จนมีฤทธิ์กล้าเหมือนเดิม และเลิกสนใจในอิสตรี...


ฝ่ายท้าวทศรถเกิดกลุ้มพระทัย เพราะทรงมีมเหสี 3 องค์ แต่ไม่มีโอรสธิดา จึงตั้งพิธี ขอโอรสโดย อัญเชิญพระฤาษีห้าองค์ มาร่วมพิธีด้วยรวมทั้งพระฤาษีกไลโกฎสามีนางอรุณวดี ซึ่งท้าวทศรถต้องเสด็จไปอัญเชิญด้วยพระองค์เองถึงเมืองโรมพัตต้น...

ก่อนจะทำพิธี พระฤาษีทั้งห้าได้ขึ้นไปเฝ้าพระอิศวรก่อน เพื่อขอเชิญพระนารายณ์อวตารมาเกิดเพื่อปราบยักษ์ พระนารายณ์ได้ทราบก็ขอประทานจักรแก้ว คทาเพชร, มหาสังข์ทักษิณาวัตร, และพญาอนันตนาคราชซึ่งเป็นบัลลังก์ทรง ให้ตามมาเกิดเป็นผู้ช่วยเหลือด้วย รวมทั้งขอให้พระลักษมีกับเทวดาทั้งหลาย ได้มาเกิดร่วมการช่วยเหลือครั้งใหญ่นี้อีกด้วย ซึ่งพระอิศวรก็โปรดให้ทุกประการ จึงมีโองการให้พระนารายณ์อวตารมาเป็นพระรามแห่งเมืองอโยธยา... มหาสังข์และพญาอนันตนาคราช มาเกิดเป็น พระลักษมณ์...จักรแก้ว มาเกิดเป็น พระพรต...คทาเพชร มาเกิดเป็น พระสัตรุต...

ฝ่ายเทวดาทั้งหลาย ก็อาสาสมัครมาเกิดเป็นทหารพระราม ตามรายชื่อในบัญชีถึงเจ็ดเล่มสมุด โดยหลัก ๆ ก็คือกลุ่มวานรจากเมืองขีดขินและเมืองชมพูที่กลายเป็นที่มาของคำว่า 18 มงกุฎนั่นเอง ซึ่งมีรายชื่อดังนี้ (ไล่เรียงตามรูปจากซ้ายไปขวาเลยนะครับ)...



  • เกยูร อยู่เมืองวานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีม่วงแก่ หรือ สีม่วงชาดแก่ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือท้าววิรุฬหก จอมกุมภัณฑ์ จตุโลกบาลแห่งทิศใต้
  • โกมุท อยู่เมืองวานรฝ่ายเมืองขีดขิน สีบัวโรย มีลักษณะ หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระหิมพานต์ เทพเจ้าแห่งป่าหิมพานต์ เมื่อครั้งเสร็จศึกลงกา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาฝ่ายซ้ายเมืองขีดขิน คู่กับไชยามพวาน
  • ไชยามพวาน อยู่เมืองวานรฝ่ายเมืองขีดขิน สีเทา หรือสีมอหมึกอ่อน มีลักษณะ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระอีศาณ หรือพระวิศาลเทพบุตร ไชยามพวานได้รับพรจากพระอิศวรให้เป็นผู้ถือธงชัยนำกองทัพพระรามไปรบ เพราะมีชื่อเป็นมงคลข่มนามอสูร เมื่อเสร็จศึกลงกา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาฝ่ายขวาเมืองขีดขิน คู่กับโกมุท
  • มาลุนทเกสร วานรฝ่ายเมืองขีดขินลักษณะ สีเมฆ หรือ สีม่วงครามอ่อน หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระพฤหัสบดี เทวดานพเคราะห์ เทพฤษี อาจารย์ของพระอินทร์
  • วิมลวานร วิมลวานร หรือ พิมลพานร วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีดำหมึก หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระเสาร์ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งการกสิกรรม
  • ไวยบุตร วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีเมฆครึ้มฝน หรือ สีมอครามแก่ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระพิรุณ เทพเจ้าแห่งฝน
  • สัตพลี วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีขาวผ่อง หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือ พระจันทร์ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าผู้ให้แสงสว่างเวลากลางคืน สัตพลีนอกจากมีหน้าที่จดความดีความชอบของเหล่าทหารแล้ว ยังมีบทบาทเด่นเป็นผู้เขียนสารส่งไปยังกรุงลงกา ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาลักษณ์แห่งเมืองขีดขิน
  • สุรกานต์ วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีเหลืองจำปา หรือ สีแดงชาด หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระมหาชัย เทพเจ้าแห่งชัยชนะ สุรกานต์เป็นผู้คุมกำลัง 30 สมุทรมาช่วยพระรามรบ เมื่อเสร็จศึกแล้วได้ครองเมืองโรมคัล
  • สุรเสน วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีแสด หรือ สีเขียว บางตำราว่าสีแดงเจือเขียว หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระพุธ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งวาจาและพาณิชย์ สุรเสนมีความเก่งกาจเกือบเทียบได้กับหนุมานเมื่อเสร็จศึกได้ไปครองเมืองอัสดงค์ของสัทธาสูร
  • นิลขัน วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีหงดิน หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระพิฆเนศ พระวิฆเนศ เทพเจ้าแห่งศิลปะ
  • นิลปานัน วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีสำริด หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระราหู เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าผู้สถิตอยู่บนก้อนเมฆ
  • นิลปาสัน วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีเลื่อมเหลือง หรือ สีหมากสุก หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระศุกร์ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งความรัก ความงาม และความสันติ
  • นิลราช วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีน้ำไหล หรือ สีฟ้าอ่อนเจือเขียว หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระสมุทร เทพเจ้าประจำมหาสมุทร นิลราชนอกจากมีบทบาทสำคัญในการรบแล้ว ยังมีหน้าที่เอาก้อนหินไปถมทะเลในตอนจองถนน เพราะต้องคำสาปของฤๅษีคาวิน ว่าเมื่อเอาสิ่งใดทิ้งน้ำให้จมอยู่กับที่ จึงต้องเป็นผู้อาสาเอาศิลาไปทิ้งทะเลแต่ผู้เดียวจึงจะพ้นคำสาป
  • นิลเอก วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีทองแดง หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระพินาย วินายก นิลเอกคือผู้ที่ไปช่วยพระลักษณ์ทำลายพิธีกุมภนิยาของอินทรชิต
  • วิสันตราวี วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีลิ้นจี่ หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระอังคาร เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าแห่งสงคราม
  • กุมิตัน วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีทอง หรือ สีเหลืองรง หัวโล้น ปากหุบ ชาติเดิมคือพระเกตุ เทวดานพเคราะห์ เทพเจ้าผู้คุ้มครองสวัสดิมงคล
  • มายูร วานรฝ่ายเมืองชมภู ลักษณะ สีม่วงอ่อน หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือท้าววิรูปักษ์ ราชาแห่งนาค จตุโลกบาล ประจำ ทิศตะวันออก
  • เกสรทมาลา ลิงตัวหอม วานรฝ่ายเมืองขีดขิน ลักษณะ สีเหลืองอ่อน หรือ สีเลื่อมเหลือง หัวโล้น ปากอ้า ชาติเดิมคือพระไพศรพณ์ พระพนัสบดีเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ในป่า คุณสมบัติพิเศษคือ มีกลิ่นกายหอมสดชื่น มีหน้าที่อยู่ใกล้ ๆ องค์พระราม ให้กลิ่นกายไปสร้างความสดชื่นให้กับพระองค์ ...

พระอิศวรจึงตรัสให้พรเช่นเดียวกับหนุมานว่า บรรดาเทวดาอาสาสมัครนี้ แม้เมื่อไปเกิดแล้วถูกยักษ์ฆ่าตาย แต่พอมีลมพัดมาต้องกาย ก็จะฟื้นชีวิตทุกครั้งทันที แล้วท้าวทศรถก็ตั้งพิธีขอโอรสต่อหน้ากองไฟ 3 ราตรี จนบังเกิดเทวทูตผุดขึ้นกลางไฟ มือทูนถาดก้อนข้าวทิพย์ มาถวายรวม 4 ก้อนหอมไปทั่วทิศ กลิ่นข้าวทิพย์หอมขจรไปไกลถึงกรุงลงกา...

นางมณโฑผู้เป็นมเหสีของทศกรรฐ์ได้กลิ่นหอมก็อยากลิ้มลอง แม้นตัวตายก็จะของลิ้มรสให้ได้ ทศกรรฐ์ผู้รักเมียจึงส่งนางกากนาสูรแปลงร่างเป็นอีกาบินไปโฉบขโมยมาได้ครึ่งก้อน แล้วตั้งครรภ์เกิดธิดา ซึ่งก็คือพระลักษมี ชายาของพระนารายณ์ที่อวตารลงมาเกิดเช่นกัน...

ส่วนที่เหลือสามปั้นครึ่งนั้น ท้าวทศรถได้แบ่งประทานให้นางไกยเกษีกับนางเกาสุริยาคนละหนึ่งปั้น และประทานให้นางสมุทรเทวีปั้นครึ่ง ต่อมาทุกนางได้ทรงครรภ์ นางเกาสุริยาประสูติโอรสเป็นพระรามมีกายสีเขียว นางไกยเกษีประสูติโอรสเป็นพระพรตมีกายสีแดง นางสมุทรเทวีประสูติโอรสมาเป็นพระลักษณ์มีกายสีทองและพระสัตรุตมีกายสีม่วง...

ย้อนกลับมาทางฝั่งเมืองลงกา เมื่อตอนนางสีดาเกิด ได้เปล่งโค้ดออกมา 3 ครั้งว่า “ผลาญราพณ์” แต่ในตอนนั้นทศกรรฐ์และนางมณโฑไม่ได้ยิน อย่างไรก็ตาม ทศกรรฐ์ก็ให้พิเภกมาทำนายดวงชะตาของธิดาคนนี้พิเภกพยากรณ์ว่านางจะเป็นกาลีต่อเมืองยักษ์   นางมณโฑได้ยินก็กรีดร้องขึ้นราวกับพระทัยจะแตกสลาย ชี้หน้าต่อว่าพิเภกต่าง ๆ นานา...


ทศกรรฐ์เห็นเมียรักคร่ำครวญร่ำไรดังนั้นก็กล่าวด้วยวาจานุ่มนวลว่า...

“นางว่าดังนั้นหาควรไม่ พิเภกย่อมรักหลานปานดวงใจ จะแสร้งทำนายใส่ไคร้ก็ผิดไป หากนางสงสัยพิเภกก็ลองให้โหรอื่นที่พร้อมอยู่ที่นั้น สอบดูให้รู้ว่าดีร้ายให้สิ้นแหนงแคลงใจ” ว่าแล้วก็สั่งให้โหราจารย์น้อยใหญ่ดูชะตาลูกตนว่าร้ายดีประการใด โดยไม่ต้องเกรงใจ ให้ว่าไปตามจริง...

บรรดาโหราจารย์เมื่อได้รับบัญชาก็ดูชะตาบุตรีทศกรรฐ์ ต่างยืนยันตามคำพิเภก เมื่อได้แจ้งคำทำนายดังนั้นจึงหันมาพูดกับนางมณโฑว่า...

"เห็นไหมเล่าดวงใจของพี่ ลูกของเราใช่ว่าพี่ไม่รักไม่อาลัย แต่เมื่อเกิดมาแล้ว จะมาล้างชีวิตเรา เราจะเลี้ยงเขากระไรได้ เจ้าอย่าร้องไห้ร่ำไรไปเลย หักใจเสียเถิด” จึงได้สั่งให้พิเภกไปจัดการเสียสุดแต่จะทำ ตามแก่การโบราณ...

พิเภกนำพระธิดาใส่ผอบแล้วลอยน้ำไป ซึ่งปรากฏว่าด้วยบุญญาธิการของพระธิดา ซึ่งเดิมเคยเป็นพระลักษมีของพระนารายณ์ จึงเกิดมีดอกบัวใหญ่มารองรับผอบทอง ฝ่ายนางมณีเมขลาและหมู่เทพบุตรซึ่งมีหน้าที่รักษาสมุทรไทเห็นยักษ์เอาพระลักษมีมาทิ้งทะเลจึงรีบมาช่วย แล้วลมก็พัดพาผอบทองให้มาหยุดที่ท่าน้ำของพระชนกฤาษี ซึ่งอดีตเป็นกษัตริย์เมืองมิถิลา ไม่มีบุตรแล้วเบื่อหน่ายในการครองเมืองจึงออกบวชเป็นฤาษี...


ฤาษีมาเจอผอบทองวางอยู่ในดอกบัวลอยน้ำมาขณะที่สรงน้ำอยู่จึงเก็บขึ้น เมื่อเปิดฝาดูพบว่าเป็นเด็กหญิงนอนอยู่ในผอบ ก็มีความโสมนัสยินดีตัดสินใจเลี้ยงเด็กนั้นเป็นธิดาบุญธรรม โดยอธิษฐานว่าถ้าเด็กน้อยนี้มีบุญวาสนาขอให้นิ้วชี้ของพระองค์มีน้ำนมให้เด็กดูดเหมือนถันของหญิงแม่ลูกอ่อน...

พระชนกฤาษีออกบวชมาก็นานหวังจะได้ฌาณโลกีย์แต่ก็ยังไม่ได้ ครั้นจะกลับคืนเข้าวัง ก็เสียดายการตบะกิจ แต่จะทำความเพียรต่อไปในเพศบรรพชิต ก็ติดด้วยการเลี้ยงดูพระธิดา จึงติดสินใจว่าจะเอาพระธิดาไปฝังไว้ที่ในป่าโดยฝากเทพไทที่ในป่าไว้แล้วตนเองจะได้บำเพ็ญภาวนาตามลัทธิโยคีต่อไป...

16 ปีต่อมาพระชนกฤาษีก็ยังไม่ได้ฌาณสมาบัติ จึงเกิดรู้สึกเบื่อหน่ายต่อการออกบวช จึงคิดจะกลับไปเป็นกษัตริย์ในเมืองมิถิลาโดยเอาพระธิดาไปด้วย พระฤาษีทรงอธิษฐานและลงมือไถรอบโคนต้นไทรด้วยพระองค์เอง ในไม่ช้าก็พบผอบอยู่ในดอกบัว และเมื่อเปิดผอบก็พบพระธิดารูปโฉมสวยงาม และมีพระชนมายุ 16 ปี จึงนำพระธิดากลับไปยังบรรณศาลา แล้วตั้งชื่อพระธิดาว่า นางสีดา ซึ่งแปลว่า รอยไถ หลังจากนั้นพระชนกก็ลาพรตพิธี แล้วทรงเครื่องกษัตริย์เสด็จกลับเข้าวังพร้อมด้วยพระราชธิดา...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น